*** วิเคราะห์สงครามเทคโนโลยี และการแผ่อิทธิพลของจีนในฟิลิปปินส์ ***
ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกยุคปัจจุบันนั้น เทคโนโลยีได้ก้าวเข้ามามีบทบาทกับชีวิตผู้คนอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชีวิตส่วนตัว เรื่องความรักและความสัมพันธ์ ไปจนถึงการทำงานที่มีการพึ่งพิงพลังของเทคโนโลยีอย่างสูง นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่มนุษย์สามารถใช้ประโยชน์จากความสะดวกสบายที่เทคโนโลยีมอบให้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตามพลังเหล่านี้ยังทำให้ “เทคโนโลยี” กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและส่งผลกระทบต่อทิศทางทางการเมืองของชาติต่างๆ
บทความนี้กล่าวถึงการต่อสู้ด้วยเทคโนโลยีสื่อสารที่กำลังก้าวเข้าทดแทนการสู้รบด้วยกำลัง พร้อมกับวิเคราะห์กรณีศึกษาจากกรณีที่ “Dito” บริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ที่หนุนหลังโดยทุนจีน กำลังจะก้าวขึ้นเป็นผู้แบ่งสัดส่วนการตลาดโทรคมนาคมอันดับ 3 ของฟิลิปปินส์
1) ข้อมูลคืออำนาจ
ในโลกนี้ยิ่งประเทศหนึ่งๆ สามารถรวบรวมข้อมูลได้มากเท่าใด ก็จะยิ่งมีอำนาจมากขึ้นเท่านั้น เพราะสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวในการพยากรณ์, กำหนดความเป็นไป, และแทรกแซงประเทศอื่นๆ
2) ความสัมพันธ์ และความขัดแย้ง จีน - ฟิลิปปินส์
จีนและฟิลิปปินส์มีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ความขัดแย้งของทั้งสองเริ่มคุกกรุ่นในปี 2010 เมื่ออดีตประธานาธิบดี เบนิกโน อาคีโน ที่ 3 ดำเนินนโยบายต่อต้านจีนที่รุกล้ำน่านน้ำเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ ผ่านกระบวนการทางกฎหมายของศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ
ในรอบนั้นแม้ศาลจะตัดสินให้ฟิลิปปินส์เป็นผู้ชนะคดี แต่ทางการจีนกลับไม่ยอมรับคำตัดสินดังกล่าว ส่งผลให้เกิดการเผชิญหน้าด้วยกำลังระหว่างกองกำลังระหว่างสองประเทศอยู่เนืองๆ เช่น กรณีที่กองเรือประมงจีนกว่า 200 ลำ เข้ายึดครองพื้นที่หาปลาบริเวณพื้นที่ทับซ้อนกับฟิลิปปินส์ในปี 2020 โดยอ้างแผนที่เส้นเก้าขีดหรือ Nine-dash line ตามประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์ฮั่น
อย่างไรก็ตามประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนปัจจุบันอย่าง โรดรีโก ดูแตร์เต นั้นมีความพยายามรักษาความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีน-ฟิลิปปินส์ผ่านการลงทุนจากธนาคาร และกองทุนเพื่อการพัฒนาต่างๆ ท่าทีแบกรับแบกสู้เช่นนี้ส่งผลให้อิทธิพลของจีนสามารถแทรกซึมเข้ามาในฟิลิปปินส์อย่างเงียบๆ
3) กรณีบริษัท Dito
บริษัทด้านโทรคมนาคมอย่าง Dito ซึ่งมีบริษัทจีนคือ China Telecom ถือหุ้นถึง 40% กำลังจะเข้ามามีอิทธิพลในฟิลิปปินส์ โดยปัจจุบันมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามในประเทศ (รองจากบริษัท PLDT และ Globe Telecom ที่มีอิทธิพลอยู่ก่อน)
การเข้ามานี้ย่อมทำให้ Dito สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว พฤติกรรมการสื่อสาร หรือกระทั่งหัวข้อบทสนทนาของประชากรเกือบ 1 ใน 3 ของประเทศ ทำให้หลายฝ่ายในฟิลิปปินส์แสดงความกังวลถึงความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวคนในประเทศของจีน
4) อำนาจอ่อนที่ไม่ค่อยอ่อน
หลายคนคงคุ้นเคยกับคำว่า Soft Power ที่หมายถึงการแผ่อิทธิพลของประเทศหนึ่งๆ ผ่านทางวัฒนธรรม ค่านิยมทางการเมือง และนโยบายต่างประเทศ แทนการใช้กำลัง แต่เมื่ออำนาจอ่อนเป็นอำนาจของประเทศมหาอำนาจอย่างจีน มันจึงไม่ค่อยอ่อนสักเท่าไรนัก
ทั้งนี้จีนได้ทุ่มทรัพยากรเพื่อแผ่อำนาจอ่อนไปในหลายภูมิภาคทั่วโลก โดยเฉพาะภูมิภาคทะเลจีนใต้ (ซึ่งหลายประเทศมีเหตุไม่ลงรอยทางการเมืองกับจีนอยู่) จีนมีการส่งออกผลผลิตทางวัฒนธรรมอย่างละครซีรี่ส์ซีป๊อบ (CPOP) ผ่านแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งอย่าง IQIYI และแพลตฟอร์มวีดีโออย่าง Tiktok ซึ่งจะไม่สามารถทำได้เลยหากไม่มีเทคโนโลยีการส่งข้อมูลที่รวดเร็ว และการสนับสนุนอย่างเป็นระบบจากรัฐ
นอกจากนั้นจีนยังพยายามสานสัมพันธ์กับผู้นำหลายประเทศ หนึ่งในนั้นคือ โรดริโก ดูเตอร์เต้ ประธานาธิบดีฟิลิบปินส์ ผู้โผงผาง ซึ่งแสดงออกอย่างชัดเจนว่าเป็นผู้นิยมในจีน ทั้งยังเคยออกปากตำหนิ โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างผิดวิสัยการทูต
ดูเตอร์เต้ได้ออกมาสนับสนุนการดำเนินงานของ Dito อย่างออกหน้าออกตา รวมถึงได้ขู่ PLDT และ Globe Telecom หรือคู่แข่งที่ครองอันดับ 1 และ 2 ในเวลานี้ให้ดำเนินการดีขึ้น มิเช่นนั้นเขาจะเรียกคืนสัมปทานโทรคมนาคมของทั้ง 2 บริษัทเสีย การนี้ทำให้การเข้ามาของ Dito ถูกโยงเข้าเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เรียกได้ว่าหมากเกมนี้ของจีนนั้นเริ่มไปไกลเกินกว่าที่ประเทศอื่นจะรู้สึกตัวเสียอีก
5) การเสียสมดุลทางอำนาจ
เมื่อพูดถึงการขยายอำนาจของจีนในภูมิภาคนี้ หากจะละเลยไม่พูดถึงสหรัฐอเมริกาคงเป็นเรื่องแปลก สำนักข่าวในฟิลิปปินส์หลายสำนักกำลังรอดูท่าทีจากฝั่งสหรัฐฯ ว่าจะมีการตัดสินใจอย่างไรต่อการเดินหมากของจีน
แต่เนื่องจากภายในสหรัฐฯ มีการเปลี่ยนผู้นำจากนาย โดนัลด์ ทรัมป์ เป็น นาย โจ ไบเดน ส่งผลนโยบายต่างประเทศมีการเปลี่ยนตามไปด้วย เมื่อบวกกับภาวะโรคระบาดโควิดทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ มีเรื่องให้กังวลมากพออยู่แล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่สหรัฐฯ จะยังไม่เคลื่อนไหว และดูเหมือนกำลังรอคอยเวลาที่จะเดินหมากของตัวเองอยู่ เพียงแต่ครั้งนี้อาจจะใช้เวลา “รอ” มากสักหน่อย โดยสำนักข่าว SupChina ได้เสนอว่าอาจมีการพูดคุยกันระหว่างพันธมิตรของอเมริกาในแถบคาบสมุทรเกาหลี ได้แก่เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ เพื่อหาแนวทางรับมือต่อไป เพียงแต่อาจจะไม่ทันใจกองเชียร์ที่เห็นจีนกำลังรุกคืบเข้ามาอย่างชัดเจนเท่านั้น
หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าต่อให้จีนตั้งใจรุกคืบเข้าสู่วงการโทรคมนาคมของฟิลิปปินส์ด้วยเจตนาอื่นที่นอกเหนือไปกว่าการทำธุรกิจให้บริการสัญญาณโทรศัพท์จริง แต่สิ่งที่จะขัดขวางจีนได้ อาจไม่ใช่นักการเมืองหรือประเทศมหาอำนาจอื่นๆ หากแต่เป็นชาวฟิลิปปินส์ผู้ซึ่งจะเป็นคนตัดสินใจว่าการบริการและคุณภาพของบริษัท Dito นั้น สมควรได้รับความเชื่อถือหรือไม่
::: อ้างอิง :::
reuters ดอต com/article/us-philippines-telecoms-idUSKCN24T08D
supchina ดอต com/2020/10/08/could-new-philippines-telco-dito-be-a-chinese-trojan-horse/
asia ดอต nikkei ดอต com/Business/Telecommunication/China-backed-telco-launches-service-to-take-on-Philippine-duopoly
::: ::: :::
บทความนี้เป็นบทความจากภายนอกที่มีผู้เสนอให้นำมาลงเพจ The Wild Chronicles ผมเห็นว่าเป็นตัวอย่างที่ดีในการประกอบบทความ ((( US-China Tech War สงครามชิงเจ้าเทคโนโลยี ))) จึงนำมาลงนะครับ (เจ้าของบทความไม่ประสงค์จะออกนาม)
同時也有10000部Youtube影片,追蹤數超過2,910的網紅コバにゃんチャンネル,也在其Youtube影片中提到,...